นึกย้อนกลับไปครั้งแรกที่ตั้งใจจะปล่อยปลาด้วยตัวเอง ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะได้บุญจากการช่วยชีวิตสัตว์เลย. เราตั้งใจว่าจะปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์และสัตว์ในบริเวณนั้นได้มีอาหาร ได้มีสมดุลในธรรมชาติ. จำได้ว่าในครั้งแรก, เราเน้นปลาที่ตัวโต เนื้ออร่อย (555) และไม่ทำลายระบบนิเวศ. ซึ่งเราได้เลือกปลา เทโพ เทพา ยี่สกไทย ปลาตะเพียนทอง และลูกปลาช่อน เอาไปปล่อยในบึงข้างๆคอนโด และก็ได้เตรียมอุปกรณ์ตกปลาไว้พร้อมสรรพ แล้วอธิษฐานในใจให้ปลาโตไวๆ แล้วอีกหกเจ็ดเดือนมาเจอกัน. ทว่าผ่านไปไม่ถึงสามเดือน, เหล่านักตกปลาก็แห่กันมาที่บึงนั้นอย่างล้นหลาม และเราเองก็ไม่ว่างลงมาตกปลาด้วย ก็เลยไม่เคยได้ทดลองตกปลาเลย.


หลังจากนั้น บัวบานก็ได้ปล่อยปลามาเรื่อยๆ ได้มีการสั่งสมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยปลาที่ถูกต้อง ทั้งจากการอ่านบทความในอินเตอร์เน็ต การโทรถามกรมประมงฯ, ทำให้ตระหนักได้ว่า การปล่อยปลาโดยไม่ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน มุ่งเน้นแต่จะเอาผลบุญ นั้นเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ หรือกระทำด้วยอวิชชา ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดทุกข์หรือบาป.
เมื่อมีการนำบุญเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปล่อยชีวิตสัตว์ ก็ทำให้เกิดพุทธพาณิชย์ขึ้นตามวัดมา บวกกับความเชื่อแบบอิหยังวะ (อวิชชาล้วนๆ) ยกตัวอย่าง เช่น
- การปล่อยปลาไหลลงแม่น้ำ จะช่วยให้การเงิน การงาน การศึกษา และการใช้ชีวิตราบรื่น โดยใช้คำว่าไหล มาเป็นจุดขาย เปรียบเปรยเหมือนให้ชีวิตไหลไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด. ในความเป็นจริง ปลาไหลมีโอกาสตายสูงในแม่น้ำใหญ่ หรือคลองที่มีน้ำไหลเชี่ยว ไม่มีตลิ่ง.
- การปล่อยเต่า จะช่วยให้ชีวิตยืนยาว มีเกราะกำบังสิ่งร้ายๆ เพราะว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน จึงใช้ความอายุยืน มาเป็นจุดขาย เปรียบเปรยเหมือนเป็นการทำให้เรามีชีวิตยืนเหมือนเต่า.
- การปล่อยหอยขม จะหมายถึงการทิ้งความขมขื่น ความทุกข์โศก เพื่อให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นอีกด้วย. ในความเป็นจริง การเทหอยขมลงแม่น้ำเจ้าพระยานี่คือการฆ่าหอยโดยการถ่วงน้ำ.
บัวบานแนะนำว่า อย่าทำเด็ดขาด! นะฮะ. อย่าปล่อยปลาด้วยความโลภในบุญ แต่จงปล่อยปลาด้วยความเข้าใจและจิตใจอนุรักษ์.
สำหรับชาว กทม. และลุ่มน้ำภาคกลาง, ท่านสามารถเลือกปล่อยปลาตามลิสต์ด้านล่างลงแม่น้ำลำคลองได้นะฮะ และควรหาปลาตัวขนาดกลางไปจนถึงใหญ่ ไม่ควรปล่อยลูกปลา เพราะจะตายซะเป็นส่วนใหญ่ (รอดแค่ 10% ไรงี้). ควรระวังเรื่องชื่อพันธุ์ปลา, เพราะปลาบางพันธุ์นั้นอาจจะมีสายพันธุ์ใกล้เคียง ที่มีชื่อคล้ายกันมากๆ แต่มันเป็นสายพันธ์ุเอเลี่ยนที่อันตรายต่อระบบนิเวศ เช่น ปลายี่สกเทศ, ปลาดุกบิ๊กอุย. ถ้านำปลาเอเลี่ยนพวกนี้มาปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะเป็นการเบียดเบียนปลาท้องถิ่นมากนะฮะ.
- ปลาเทโพ ปลาเทพา*
- ปลายี่สกไทย*
- ปลากราย ปลาตองลาย ปลาฉลาด
- ปลาคัง
- ปลากดเหลือง
- ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง
- ปลากระแห
- ปลาแก้มช้ำ
- ปลาสร้อยขาว


ใน กทม. นั้น แม่น้ำลำคลองส่วนใหญ่จะเป็นคลองขุด. ถ้าจะปล่อย ควรปล่อยลงเจ้าพระยาเลย หรือปล่อยลงคลองที่ใหญ่และกว้างขวางหน่อย.